วัตถุดิบที่ใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
วัตถุดิบที่สำคัญ คือ ดินที่ใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
จะนำมาจากฟากมูล ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านด่านเกวียนทางทิศตะวันออก
ระยะทางราว 2 – 3 กิโลเมตร เป็นที่ราบ ริมฝั่งมูล
ชาวบ้านจะเลือกขุดบริเวณที่มีดินเหมาะแก่การปั้นเป็นแห่ง
ๆ เรียกว่ากุด บริเวณแหล่งดินแต่เดิมมีดังต่อไปนี้
1. กุดลอนตาล
2. กุดสองคืน
3. กุดเสือตาย (กุดสายตาย)
4. กุดหนองโชติ
5. กุดเวียน
6. กุดตะเกียด
7. คลองตำแย
8. วังใหญ่
9. หนองงูเขียว
10. มูลหลง
กุดเวียน แหล่งดินแห่งหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ
ปัจจุบันใช้ดินทั่วไปในบริเวณฟากมูล เพราะกุดบางกุด
ที่ใช้มาแต่โบราณ ได้มีคนจับจองเป็นเจ้าของ เช่น
กุดเวียน จึงไม่สามารถที่จะนำดินมาใช้ได้อีก ที่ดินบางส่วนของกุดตะเกียดและกุดอื่น
ๆ ก็มีพ่อค้าคนกลางในตลาดกว้านซื้อเป็นเจ้าของ ชาวบ้านที่มีอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผา
จะต้องซื้อต่อจากคนกลาง ดังนั้นอาจจะแบ่งแหล่งดินที่นำมาใช้ในปัจจุบันเป็น
2 บริเวณด้วยกัน คือ
1. บริเวณทุ่งด่านเกวียน
2. บริเวณทุ่งดินมูลหลง
บริเวณทุ่งด่านเกวียน หมายถึงดินเหนียวในทุ่งนา
บริเวณฟากมูลทั่ว ๆ ไป ดินพวกนี้จะเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียด
ส่วนบริเวณทุ่งดินมูลหลงจะอยู่ติดกับลำมูล เนื้อดินบางแห่งจะเป็นทรายละเอียด
ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดินขาว ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อให้ดินปั้นง่าย
ผึ่งและเผาไม่แตกมาก นอกจากนั้นยังเพิ่มความแข็งให้กับเนื้อดินเผาด้วย
ลักษณะของดิน
ดินที่เหมาะแก่การปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
จะเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียด ไม่มีกรวดหิน รากไม้
หรือสิ่งอื่น ๆ เจือปน มีสีแดง หรือน้ำตาลดำ (แดง)
ดินที่มีคุณลักษณะดี คือดินที่ปั้นแล้วนำมาเผาจะได้สีแดง
เรียกว่า สีเลือดปลาไหล ปัจจุบันค่อนข้างหายาก เหตุที่ดินมีสีแดงเป็นเพราะว่า
มีอ๊อกไซด์ของโลหะผสมอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นสนิมของเหล็กก็ได้
เมื่อเผาแล้วจึงกลายเป็นน้ำเคลือบในตัว
กุดตะเกียด แหล่งดินอีกแห่งหนึ่ง