ประวัติ
ด่านเกวียน - History
The Land of Ceramics |
|
|
บทนำ
สังคมไทย เป็นสังคมเกษตรเพื่อยังชีพมาแต่ครั้งโบราณกาล
นอกจากการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นอาหารและไว้ใช้แรงงานแล้ว
ยังมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไว้ใช้ในครอบครัวด้วย
ดังนั้น เวลาที่ว่างจากงานด้านเกษตรกร จึงเป็นเวลาที่ใช้ทำงานด้านหัตถกรรมแล้ว
ยังนำส่วนที่มากกว่าความต้องการใช้ไปแลกเปลี่ยนสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ซึ่งครอบครัวไม่สามารถจะผลิตได้เอง เครื่องปั้นดินเผ่าด่านเกวียนก็เป็น
ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าจะมีหลักฐานหลายอย่างปรากฏให้เห็นเด่นชัดว่า
มีการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่หลายแห่งในภาคอีสานมานานแล้ว
เช่นที่บ้านเชียง แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อกล่าวถึงเครื่องปั้นดินเผาของภาคอีสาน
คนไทยทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รู้จักเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมากกว่าเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งอื่น
เพราะปัจจุบันนี้ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนได้วิวัฒนาการจากหัตถกรรมในครัวเรือน
เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกนอกท้องถิ่น ดังจะเห็นวัตถุประสงค์นี้ได้อย่างชัดเจน
ตั้งแต่การผลิตไปจนถึง รูปแบบ กระบวนการผลิต และระบบการซื้อขายที่แพร่กระจายไปยังตลาดต่างประเทศ
วิวัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้มีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งต่าง
ๆ มากมายในชุมชนบ้านด่านเกวียน นับตั้งแต่การนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้ในการผลิต
การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ระบบการทำงานของช่าง กระบวนการซื้อขายผลิตภัณฑ์
นับวันความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็จะเคลื่อนต่อไปเรื่อย
ๆ ความเป็นมาแต่ครั้งดั้งเดิมของชุมชนที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
กำลังถูกลบเลือนไปเหมือนกับช่างรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาแทนที่ช่างรุ่นเก่าที่ล้มหายตายจากหรือเปลี่ยนอาชีพไป
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน
ซึ่งในครั้งโบราณมีการทำเครื่องปั้นดินเผาด้วยเทคโนโลยีที่เจริญทัดเทียมกันนั้น
ปัจจุบันนี้ภาคเหนือมีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงอยู่หลายแห่ง
แต่ในภาคอีสานมีเพียงด่านเกวียนเท่านั้นที่ยังมีชื่อเสียงทัดเทียมกับผลิตภัณฑ์ของภาคเหนือ
ดังนั้นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
จึงเป็นการศึกษาถึงวิวัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาของอีสานที่มีการปรับเปลี่ยนจนสามารถดำเนินอยู่ได้ในปัจจุบัน
เนื้อหาของเอกสารเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่
1 สภาพทั่วไปของชุมชน กล่าวถึงสภาพทางภูมิศาสตร์กายภาพ
หรือภูมิศาสตร์ธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์ต่อการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
ได้แก่ ที่ตั้งอันเหมาะสมของชุมชน ลักษณะภูมิประเทศและโครงสร้างทางธรณีวิทยา
โดยเฉพาะ "ดิน" ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตนอกจากนี้ยังกล่าวถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ประชากรในชุมชนด่านเกวียนอีกด้วย
ตอนที่ 2 เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เป็นการให้ข้อมูลในการทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนตั้งแต่การผลิต
การเลือกวัตถุดิบ การปั้น การตกแต่งลวดลาย การเผาและการตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ตอนที่ 3 ช่างปั้นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
แม้ว่าจะมีองค์ประกอบด้านทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต
คือ ดิน น้ำ ไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ความชื้น และสภาพอากาศที่เหมาะสม
แต่สิ่งเหล่านั้นสำคัญน้อยกว่า "คนผู้เป็นช่างปั้น"
ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ก็เพราะมีช่าง
เนื้อหาในส่วนนี้กล่าวถึงช่างที่มีมาตั้งแต่ครั้งอดีต
จนถึงปัจจุบัน จากเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่ตอนที่
1 - 3 จะทำให้เห็นภาพองค์ประกอบสำคัญของการทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
ครบตามขบวนการอุตสาหกรรม คือแหล่งทุน วัตถุดิบ แรงงาน
และการบริหารจัดการ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน คณะผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
เอกสารนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานของการศึกษาเรื่องเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต
ประวัติ
ด่านเกวียน เป็นหมู่บ้านหนึ่งของ
ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ
15 กิโลเมตร โดยมีทางหลวงหมายเลข 224 สายนครราชสีมาโชคชัยผ่านกลางหมู่บ้านซึ่งมีร้านค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งและมีลำน้ำมูลทอดขนานอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกหมู่บ้าน
ด่านเกวียนนั้นแต่เดิมพ่อค้าจากนางรอง - บรีรัมย์
- สุรินทร์ -ขุนหาญ - ขุขันธ์ เรื่อยไปจนถึงเขมรจะเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวโคราชและมักจะพักกองคาราวานเกวียนกัน
เป็นประจำจนได้ชื่อ หมู่บ้านว่า" บ้านด่านเกวียน
" และในขณะพัก พ่อค้าเหล่านั้นก็มักนำดินจากสองฟากฝั่งลำน้ำมูล
มาทำภาชนะใช้สอยต่างๆ เช่น โอ่ง อ่าง ไหปลาร้า ฯลฯ
โดยลอกเลียนแบบจากชนชาวข่าวซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยในพื้นที่แต่เก่าก่อนหลังจากนั้นเมื่อนำภาชนะเหล่านั้นกลับภูมิลำเนาของตน
และด้วยคุณภาพพิเศษ ของภาชนะทั้งในด้านสีสันความคงทนต่อการใช้งาน
จึงทำให้ภาชนะด่านเกวียนเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนจนได้รับการเผยแพร่
มากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้รับความสนใจยิ่ง จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งในการค้าขายกันในยุคอดีตจวบจนปัจจุบัน....ลักษณะเฉพาะของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนั้นอยู่ที่ดินที่นำมาใช้
กล่าวคือดินด่านเกวียนเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียดที่ขุดขึ้นมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูล
(ซึ่งห่างออกไปจากทางหลวง 224 ทางทิศตะวันออกประมาณ
2 - 3 กิโลเมตร)ในพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า กุด
หรือแม่น้ำด้วน(ลักษณะลำน้ำที่คดเคี้ยว
กัดเซาะตะลิ่งจนขาดและเกิดลำน้ำด้วนขึ้น ส่วนที่เป็นแนวกัดเซาะจะกลายเป็นแหล่งทับทมดิน
ดินดังกล่าวนี้เป็นดินซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ
ง่ายต่อการขึ้นรูปทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยวหรือแตกหักง่าย
และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือดินนี้เมื่อถูกเผาจะให้สีโดยธรรมชาติเป็นสีแดงซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากธาตุเหล็ก
(Iron Oxide) หรือสนิมเหล็กที่มีอยู่จำนวนมากในเนื้อดิน)
|